ตอนที่2 ยะลา เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้

REMINDING ME: Yala ,Thailand

ยะลา เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้ 8 วัน

ยะลา เป็นจุดหมายต่อไปในการเดินทาง ประสบการณ์ความล่าช้าในการเดินทางในวันก่อน ทำให้ต้องเตรียมทำใจในครั้งนี้ เราจะใช้ปรัชญาความเริงร่าของม้ายูนิคอร์นที่อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ มาเป็นตัวลดทอนความหงุดหงิดเมื่อต้องรอคอย หลังออกเดินหาอาหารเช้ามานั่งกินที่ม้าหินตรงหน้าที่พัก พอแปดโมงกว่าเราก็รีบออกเดินทางไปสุไหงโก-ลกโดยทันที ทั้งๆที่ตามแผนคือการนั่งรถไฟเที่ยว 12.25 เพื่อไปลงยังตัวเมือง ยะลา ลางสังหรณ์มันเริ่มทำงานแบบมีกลิ่นตุๆ ที่วันก่อนหน้าได้พยายามเข้าเว็บของรถไฟไทยแต่ก็ดูเหมือนจะมีการปิดปรับปรุงหรืออะไรสักอย่างจนทำให้ดูตารางเวลาที่แน่นอนไม่ได้ เมื่อครั้นจะโทรศัพท์เพื่อสอบถามกับทางสถานี ก็กลายเป็นสายไม่ว่างสลับกับไม่มีคนรับ จึงกลายเป็นความคลุมเครือที่เราจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดอย่างเหลือเฟือในเรื่องของเวลา ด้วยระยะทางเพียงแค่ 30 กว่ากิโลเมตรจากตากใบ ถ้ายังไปไม่ทันก็คงต้องนั่งเคี้ยวลาเวนเดอร์ให้หมดทุ่ง เพราะเพียงแค่สูดดมมันคงไม่พอ

ทางตากใบลากูนรีสอร์ทได้ให้คนขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งเราตรงสามแยกหน้าร้านวัสดุก่อสร้าง เพื่อดักรอขึ้นรถสองแถว เวลาผ่านไปชั่วโมงกว่ากับความว่างเปล่าก็เริ่มทำให้เริ่มกระสับกระส่าย เด็กหนุ่มที่มารอโดยสารเช่นเรามาทักถามถึงจุดหมาย แล้วชวนกันให้ลองโบกรถบรรทุกเผื่อมีโอกาส คันนึงจอดหลังจากที่ลองอยู่สองสามคัน แต่ทว่าที่นั่งอันจำกัดจึงทำให้รับผู้โดยสารได้อีกเพียงแค่หนึ่งคน เราจึงโบกมือลาให้น้องเจ้าของความคิดได้ไปก่อน เรานั่งรออีกพักใหญ่โดยที่ไม่ได้ทำการโบกรถต่อ รถกระบะของทางร้านวัสดุก่อสร้างเลี้ยวออกมาจากลานจอด เจ้าของร้านที่เป็นผู้หญิงคนขับกับคุณพ่อของเธอกวักมือเรียกเรากับคนแปลกหน้าอีกหนึ่งคนให้ขึ้นท้ายรถไปด้วยกัน

พวกเราลงกันตรงโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกอันเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเขา เรายกมือไหว้ขอบคุณด้วยความซาบซึ้งจากน้ำใจที่ได้รับ แล้วเดินต่อมายังสถานีรถไฟที่ไม่ไกลมากนัก เมื่อจะทำการซื้อตั๋วกลับพบเที่ยวเวลาที่แสนประหลาด ขบวนรถตามปกติยกเลิกถึงสามเที่ยวเหลือเพียงหนึ่งเดียวที่จะไปถึง ยะลา ได้ในตอนเย็นค่ำ เราจึงยกเลิกแผนนั่งรถไฟแล้วไปยังสถานีขนส่งเพื่อขึ้นรถตู้ เวลาออกที่ไม่แน่นอนเพราะต้องรอผู้โดยสารจึงทำให้เราต้องอยู่ที่นั่นอีกพักใหญ่ เจ้าหน้าที่อาสาและตำรวจเข้ามารวบตัวคนต่างชาติที่จะเดินทางไปหาดใหญ่แบบไม่ยอมกักตัวและลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย จึงทำให้บริเวณนั้นดูแตกตื่นวุ่นวายอยู่ไม่น้อยในขณะรอ รถตู้เริ่มออกเดินทางโดยมีเราเพียงหนึ่งเดียวที่นั่งอยู่ สัมภาระและพัสดุที่คนขับต้องส่งต่อทำให้เบาะหลังหายไปถึงสองแถว รถแล่นผ่านเส้นทางเดิมกลับมาทางตากใบ ถึงแม้สิ่งที่พยายามมาในครึ่งวันในช่วงเช้าจะมีค่าเท่ากับศูนย์ แต่ก็ทำให้เรามองไปยังร้านวัสดุก่อสร้างเมื่อรถแล่นผ่านด้วยความรู้สึกขอบคุณจากใจจริงอย่างมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องจินตนาการถึงทุ่งลาเวนเดอร์ และไม่ได้รู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาแต่อย่างใด

สถานีรถไฟสุไหงโก-ลกเราว่าสวยดีแต่เงียบมาก
สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นสถานีรถไฟสถานีสุดท้ายของประเทศไทยที่มีระยะทางไกลที่สุด

กว่าที่เราจะมาถึง ยะลา ก็ปาเข้าไปบ่ายสามโมงกว่า หลังจากที่เก็บกระเป๋าเราก็ส่งข้อความเพื่อบอกถึงสถานที่พักให้กับหลิงปิงไกด์ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เพื่อที่วันพรุ่งนี้เค้าจะได้มารับเราไปยังหมู่บ้าน เมื่อเสร็จกิจเราก็มุ่งหน้าออกเดินไปทางสถานีรถไฟเพื่อเริ่มสำรวจเดินเล่นในทันที ตัวเมือง ยะลา ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผังเมืองที่ดีระดับโลก มีการจัดโซนพื้นที่เป็นสัดส่วน ถนนที่มีจุดเชื่อมวงเวียนกลางแผ่ออกเหมือนใยแมงมุม กับถนนที่เป็นเส้นตัดกันเป็นตาตารางในพื้นที่ทางธุรกิจและที่อยู่อาศัย จึงทำให้เกิดถนนถึงสี่ร้อยสายในสิบเก้าตารางกิโลเมตร อีกหนึ่งสิ่งที่เราสังเกตุเห็นกับการวางผังแบบนี้นั่นก็คือ ที่นี่จะมีตึกแถวที่อยู่ตรงทางสามแพร่งเป็นจำนวนมากตามจุดตัดกันของถนนเส้นต่างๆ

เมื่อแรกเดินก็เกิดความสับสนว่าเราอยู่ส่วนไหนของใยแมงมุม ความไม่คุ้นเคยก็สามารถสร้างความงงงวยให้กับคนมาใหม่ได้อยู่เหมือนกัน สิ่งที่เราชอบมากๆก็คืออาคารที่สร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 2500 เรื่อยมาจนถึงยุค70 ยิ่งมาตอนหลังที่ตึกหลายแห่งในเมืองสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ร่วมใจกันระบายสร้างสีสันให้เมืองดูสดใส เมื่อกาลเวลาผ่านไปเราว่าความซีดจางทำให้สีตึกเหล่านี้ออกไปในทางพาสเทล ซึ่งทำให้น่ารักดี ข้อดีอีกอย่างสำหรับเรานั่นก็คือมันทำให้ใยแมงมุมที่ว่ามีความแตกต่างจนสร้างจุดจดจำทางได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดิม

เราเดินมาทางศาลเจ้าที่จะมีภาพวาดของคุณ Alex Face อยู่ตามผนังอาคารเก่าในโปรเจ็ค Bird city street art ซึ่งก็ดูเข้ากันกับที่นี่ได้เป็นอย่างดี เราเดินไปมาอยู่ในไยแมงมุมจนฟ้ามืด (หรือจะเรียกดีๆแบบไม่อายว่าหลงทางก็ว่าได้)

ในช่วงเช้าๆเรายิ่งชื่นชอบเมืองนี้มากเป็นพิเศษ ร้านอาหารที่รสชาติเยี่ยมยอดจะมีให้เลือกกินอยู่หลายร้านมากกว่าตอนเย็น เราเลือกไม่ถูกเลยตัดสินใจกินมันทั้งสามร้านที่อยากลองทั้งเกาเหลาหมูตุ๋น ข้าวหน้าเป็ดพะโล้ ติ่มซำและกาแฟ เรียกได้ว่าจุกมากๆก่อนที่ไกด์หลินปิงจะมาถึง

ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นกับเป็ดพะโล้ร้านนี้อร่อยมาก อยู่ในซอยหลังตึกสีๆตรงข้ามสถานีรถไฟ

พอเก้าโมงหลิงปิงส่งข้อความมาว่าถึงแล้ว เราจึงหอบกระเป๋าไปขึ้นรถที่หน้าโรงแรม ระหว่างทางหลิงปิงได้เล่าเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับภาคใต้ในส่วนที่เราเองก็เพิ่งรู้ อย่างเมื่อก่อนรถที่จอดกันตามถนนจะต้องจอดชิดขวาตรงเกาะกลาง เพื่อป้องกันเหตุระเบิดร้ายแรงกับร้านค้าหรือผู้คนที่เดินอยู่ตามริมถนน และในทุกๆวันจะมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์อย่างน้อยหนึ่งศพ ส่วนใหญ่จะเป็นมอเตอร์ไซค์ในเมืองยะลา

เค้าเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของคุณพ่อคุณแม่และกลุ่มสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเมื่อครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ในป่า เรื่องราวหลายๆเรื่องฟังแล้วสนุกดี ทำให้รู้สึกได้ถึงสายใยแห่งความผูกพันของกลุ่มที่เป็นมากกว่าครอบครัว และความผูกพันที่เหนียวแน่นกับผืนป่าที่อาศัยอยู่ เราขอละไว้ ไม่เล่าในที่นี้ เผื่อไว้ให้ทุกคนที่มีโอกาสมาเที่ยว ได้สัมผัสและฟังเรื่องราวที่ถ่ายทอดโดยตรงจากผู้คนในท้องที่ด้วยตนเอง

รถมาจอดที่เขื่อนบางลางเพื่อแวะกินข้าวกลางวัน เรายังสับสนกับทิศทางเลยสอบถามเรื่องจุดนัดรับทำไมต้องเป็นที่ตัวเมืองยะลา ตอนวางแผนเที่ยวเรากางแผนที่อำเภอธารโตที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับอำเภอสุคิริน มีเพียงอำเภอจะแนะกั้น (ในตอนแรกเราวางแผนจากตากใบแล้วจะมาเที่ยวที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ซึ่งตั้งอยู่ที่สุคิริน แต่ก็ต้องตัดทิ้งด้วยเรื่องของงบประมาณและการเดินทาง) แต่ทำไมหลิงปิงถึงยืนกรานว่าจุดนัดรับที่ใกล้ที่สุดเป็นตัวเมืองยะลา ที่อยู่เหนือสูงถัดขึ้นไปอีกหลายอำเภอ หลิงปิงให้ข้อมูลกับเราว่าดูใกล้กันก็จริงแต่มันไม่มีถนน ดินแดนเขตที่ติดกันของอำเภอจะแนะกับธารโตเป็นผืนป่าใหญ่ เราลองกดเส้นทางใน google map ก็เห็นเป็นดังว่า เส้นทางดูอ้อมไปมาเกือบเป็นเส้นวงกลม

รถแล่นถึงหมู่บ้านเราก็โล่งใจ เพราะทางที่คดเคี้ยวจากเขื่อนเริ่มทำให้เราจะเมารถ หลิงปิงให้เราพักผ่อนและเพื่อเตรียมตัว แล้วนัดแนะเวลาอีกครึ่งชั่วโมงจะมารับไปเดินป่าฮาลาบาลาที่มีจุดหมายเป็น น้ำตกฮาลาซะห์ ถุงเท้ากันทากที่อุตส่าห์สั่งมาคงจะไม่ได้ใช้ในอากาศที่ร้อนของหน้าแล้งแบบนี้ ระหว่างรอเราเล่นกับลูกหมาลาบราดอร์ที่วิ่งสั่นหางดุ๊กดิ๊กกรูเข้ามาต้อนรับ มันชื่อฮาลากับบาลา (หลิงปิงบอกว่าเจ้าของซื้อมาเพื่อหวังให้เฝ้าบ้านป้องกันคนแปลกหน้า…!!!)

ชื่อฮาลาหรือบาลาเราจำไม่เคยได้ เลยเรียกฮาลาบาลาทุกครั้งที่เจอ

โก้ไกด์อีกคนของที่นี่จะเป็นคนพาเราเดินป่าในครั้งนี้ เขาพาขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้าไปจอดตรงเกือบสุดถนน แล้วพาเดินลัดที่เป็นทางเล็กๆตรงเข้าไปยังป่า ระยะทางสี่กิโลเมตรตลอดเส้นทางที่เดินไม่ได้ยากลำบากมากนักในหน้าแล้ง ป่าฮาลาบาลา เป็นป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ถึงแม้เราจะเลือกเดินทางมาในเดือนมีนาคม อาจจะทำให้อากาศค่อนข้างร้อนและดูแห้งแล้งไปบ้าง แต่ต้นไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีก็ดูสวยงามและยังคงดูชุ่มชื้นกว่าในภูมิภาคอื่นๆ ความหลากหลายของพืชที่ได้เจอก็ยังมีมากกว่าในจินตนาการของเราอยู่เอามากๆ บางชนิดเราเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก โก้ก็ตอบคำถามสร้างความรู้ให้กับเราในช่วงขณะนั้นได้เป็นอย่างดี (เพราะออกมาจากป่าได้ไม่นานก็ลืมชื่อต้นไม้ต่างๆนานาที่ได้ไปเจอมาว่าชื่อเสียงนามอะไรกันบ้าง) เมื่อข้ามลำน้ำมาสองครั้งและเดินต่อมาอีกหน่อยเราก็มาถึง น้ำตกฮาลาซะห์ หลังจากที่เดินป่ามาเป็นชั่วโมงแล้วต้องมาเจอป้ายสีๆชื่อน้ำตกขนาดใหญ่ทำให้อารมณ์นักผจญภัยในไพรดิบของเราขุ่นมัวขึ้นเล็กน้อย เราอ้อมแอ้มถามหยั่งเชิงว่าเป็นความคิดใครในเรื่องนี้ โก้ตอบว่าของทางการเอามาตั้งไว้ ซึ่งตอนแรกไม่ได้แอบๆข้างอยู่แบบนี้ ครั้งแรกที่โก้และพวกเจอคือมันตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลาง น้ำตกฮาลาซะห์ อย่างน่าตกใจ ใครจะถ่ายภาพมุมไหนอย่างไรก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ พวกเขาเลยช่วยกันยกย้ายลงมาให้มาอยู่ด้านข้างก่อนถึงตัวน้ำตกเล็กน้อย จากใจจริงของเราถึงหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ ป้ายแบบนี้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของท่านแต่อย่างใด มีแต่จะทำให้สถานที่อันสวยงามดูด้อยค่าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าในเขาที่ตัวเราต้องการโหยหาธรรมชาติเพียงเท่านั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนลงรูปแล้วยังไม่มีโลเคชั่นในโซเชียลมีเดียให้เช็คอิน มันก็ยังคงพอเข้าใจได้

น้องโก้ไกด์อธิบายเรื่องต่างๆได้อย่างน่าประทับใจ
ต้นไม้ใหญ่มีมากมายระหว่างทางเดินทำให้ไม่ร้อน
หญ้ารังไก่ กนกนารี สีจะเขียวน้อยลงเมื่ออยู่ในร่ม สีจะเหลือบฟ้าปลายแดง
ต้นไม้ใหญ่แบบหลายคนโอบก็มีอยู่มากมาย
ศรียะลา หรืออโศกเหลืองเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดยะลา
ใบไม้รูปเหมือนมือคน น้องโก้บอกชื่อมาแล้วแต่เราลืม ที่นี่มีต้นไม้แปลกๆอยู่เยอะจริงๆ ตามทางก็จะมีรอยเท้าสัตว์อยู่มากมายที่ทิ้งร่องรอยไว้

สายน้ำที่ตกลงมาจากผาสูงในปริมาณที่ไม่ได้ถาโถมจนน่ากลัว มันทำให้บริเวณนี้ดูสงบชุ่มช่ำน่านั่งเล่น เราจุ่มขาเดินไปมาบนโขดหินหามุมถ่ายรูปอยู่นาน แดดตอนบ่ายที่ทะลุต้นไม้ทำให้ภาพที่ได้เป็นด่างด่วง เราต้องรอจังหวะพระอาทิตย์เข้าเมฆเพื่อลดความคมชัดส่วนต่างความสว่างของแสงให้น้ำตกนั้นดูน่ามอง เราหันหลังไปตามเสียงเรียกของโก้ ที่บอกให้เราเตรียมตัวเมื่อถึงเวลากลับ ในมือของเขาหอบหิ้วขวดพลาสติกและเศษขยะอีกจำนวนหนึ่ง คนที่มาเที่ยวก่อนหน้านี้ทิ้งเอาไว้อย่างมักง่ายจนน่าหน่ายใจแทน ขากลับจะเป็นเส้นทางที่ตัดสั้นเพียงแค่400เมตร มีไว้ให้คนที่ไม่อยากเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าได้ตรงมายังน้ำตก

โก้และหลิงปิงเล่าและอวดรูปถึงสิงห์สาราสัตว์ที่ในช่วงเวลาต่างๆของปีที่ได้เจอ นกเงือกมีอยู่มากมายในเดือนกรกฎาคมก็ไม่มีให้เห็นในเดือนนี้ (มันอยู่ในโพรงที่อุดไว้ด้วยขี้ของตัวเองในตอนนี้) หรือช่วงน้ำลดหญ้าขึ้นสูงจนฝูงกระทิงป่าพากันลงมากินกันตรงหน้าหมู่บ้าน ภาพและเรื่องเล่าเหล่านี้ล้วนกระตุ้นต่อมให้เราอยากมาที่นี่อีกในช่วงเวลาดังกล่าว เราว่าช่วงหน้าฝนคงเป็นเวลาที่สวยมากๆสำหรับที่นี่

น้ำตกฮาลาซะห์ ที่ปริมาณน้ำกำลังงาม
แสงที่ส่องรอดลงมาจากต้นไม้ทำให้แอ่งน้ำดูเรืองรองเป็นสีทองสวยดี
เมื่อเมฆบังแสงอาทิตย์แอ่งน้ำก็เปลี่ยนเป็นสีเงินสวยไปอีกแบบ

เวลาบ่ายสามโมงครึ่งโก้ก็มารับเราอีกครั้งพร้อมเสื้อชูชีพ เขาจะพาเรานั่งเรือในทะเลสาบฮาลาบาลาไปยังต้นลำธารน้ำใส ป่าสองข้างทางที่เห็นบนฝั่งยังดูเขียวขจีแม้ในหน้าร้อน มีต้นไม้ที่สีออกเหลืองออกแดงแบบไม่ใช่แห้งกรอบแซมปนอยู่ ในฤดูนี้ต้นไม้กำลังผลัดใบเปลี่ยนสี เรือมาจอดที่เนินทรายให้เราลงเดินไปยังโขดหินที่มีลำธารน้ำไหลมาจากป่ามาสมทบในทะเลสาบ เรานั่งเล่นตรงนั้นและพูดคุยกับโก้จนถึงช่วงเย็น ขากลับเริ่มเห็นนกหลายชนิดบินกลับรัง โก้ชี้ให้ดูเหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทาที่บินอยู่สูงเมื่อใกล้ถึงฝั่ง เราเดินเล่นในหมู่บ้านและมานั่งตรงลานหญ้าริมน้ำจนเกือบค่ำ

บางคนที่อยู่หลายวันหรือไม่ได้เดินขึ้นเขาในช่วงเช้า ก็จะมาล่องเรือชมความงามในช่วงเวลานั้นเพราะสายหมอกก็ทำให้สวยงามได้ไม่แพ้ตอนเย็น
สองฝั่งเป็นป่าทึบ จะมีบางส่วนที่เป็นสวนยางพาราของชาวบ้านที่เคยปลูกทิ้งไว้ก่อนที่จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์
ต้นไม้ที่ใบกำลังเปลี่ยนสีก็ทำให้ป่าในฤดูนี้สวยดี
ตรงนี้เป็นลานหน้าหมู่บ้านที่มาเดินเล่นริมทะเลสาบได้

หลิงปิงขี่รถมารับไปกินข้าวเย็นที่บ้านของเค้า ปลากระโดดทอดเป็นอีกหนึ่งเมนูที่เราเพิ่งเคยได้ชิมเป็นครั้งแรก บทสนทนาที่ติดอยู่ในหัวเราแบบดึงไม่ออกในเรื่องการแต่งรูปถ่ายของคนสมัยนี้ ที่เริ่มจะเป็นปัญหาสำหรับคนประกอบกิจการเรื่องการท่องเที่ยว กับรูปที่แต่งจนเกินเลยทำให้คนมาสถานที่นั้นๆแล้วรู้สึกเฟลกับภาพที่เห็น เหมือนนัดบอดกับคนที่ภาพไม่ตรงปกอย่างไรอย่างนั้น (ในครั้งนี้เราเลยต้องคอยตีมือเตือนใจตัวเองให้เบาได้เบาหน่อยตอนแต่งรูป)

ปลากระโดดอีกหนึ่งในของอร่อยจากทะเลสาบ

ตอนตีห้าสิบห้าอาฉีไกด์อีกคนของหมู่บ้านได้ขับรถกระบะมารับเราเพื่อไปชมทะเลหมอกในตอนเช้า ทางขึ้นไม่ได้ไกลมากแต่ค่อนข้างสูงชันเอาเรื่องอยู่ เราพักเหนื่อยหอบอยู่เป็นระยะตลอดเส้นทาง ลานหินโยกเป็นจุดแรกที่จะได้เห็นวิวแบบเปิดกว้าง เมื่อเดินต่อขึ้นไปอีกหน่อยจะเป็นอีกลานที่เห็นวิวได้เต็มตากว่า หมอกที่คลุมหนาเริ่มเคลื่อนตัวตอนฟ้าสาง ไหลเอื่อยอ้อยอิ่งจากในป่าไปทางเขื่อน ในเดือนมีนาคมแบบนี้ยังมีทะเลหมอกโดยไม่ต้องอาศัยฟ้าฝนก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ (ทะเลหมอกบางแห่งจะมีก็ต่อเมื่อฝนตกตอนกลางคืน) บนนี้จะเห็นวิวกว้างจนถึงเกาะแก่งในเขื่อนบางลาง เมื่อแดดเริ่มออกเราก็เดินลงเพื่อกลับไปยังหมู่บ้าน

อาฉีไกด์จากหมู่บ้านอีกหนึ่งคนที่พาเรามาดูทะเลหมอก

หลังอาหารเช้า หลิงปิงนำกุญแจมาเปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา9 เขาบรรยายเรื่องราวต่างๆถึงประวัติศาสตร์และการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในผืนป่าที่ยาวนานกว่า 30 ปี นิทรรศการภายในอาคารจะมีภาพถ่ายรวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในขณะที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ใช้ชีวิตต่อสู้ร่วมกันในผืนป่า

ที่นี่ไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์เหมือนในเมืองใหญ่ ที่ต้องมีสิ่งปลูกสร้างแบบถาวรจนสามารถเหลือร่องรอยมาให้เห็นได้ในปัจจุบัน แต่เรื่องราวที่ได้ฟังจากการถ่ายทอดของผู้คนอันใกล้ชิดหรือได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้น กลับมีคุณค่ามากกว่าการมาดูซากปรักหักพังเป็นไหนๆ นอกจากเกร็ดประสบการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้นั่นคือ ไมตรีจิตในหมู่มิตรสหายที่ได้ร่วมกันฟันฝ่าช่วงเวลาอันยากลำบากมาด้วยกัน เกิดเป็นความผูกพันที่แผ่กระจายจรดผืนป่าฮาลาบาลาแห่งนี้อย่างเห็นได้ชัดเจน

ในช่วงสายหลิงปิงขับรถมาส่งเราที่ท่ารถในตัวเมืองยะลา เมื่อร่ำลากันเราก็ขึ้นรถโดยสารที่เป็นแท็กซี่เบ๊นซ์โบราณไปยังปัตตานี รถเหล่านี้เปิดให้บริการมานานถึง 50 ปี ในอดีตแถวนี้เฟื่องฟูในการทำธุรกิจเหมืองแร่ รถของเจ้านายฝรั่งที่หมดสัญญาว่าจ้างในพื้นที่แล้วไม่ได้นำกลับไปด้วย จึงนำมาทำแท็กซี่บริการให้กับผู้คนในท้องถิ่นแทน ถึงแม้ในปัจจุบันผู้คนจะนิยมใช้บริการกันลดลงไปมาก แต่เราเห็นว่ารถโดยสารแบบแชร์แท็กซี่กันนั่งแบบนี้สะดวกและประหยัดดี

เราว่าที่นี่มีโปรมแกรมให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติของผืนป่าแห่งนี้ในรูปแบบที่ไม่ได้โหดมาก แถมยังครบรสทั้งเดินป่าไปน้ำตก นั่งเรือหรือเดินเขาไปชมทะเลหมอกในตอนเช้า เราว่ากำลังเพลิดเพลินแบบพอเหมาะ เหมือนมีเพื่อนพาเดินเที่ยวเล่นไปตามที่ต่างในละแวกบ้าน ซึ่งหากใครที่ไม่ได้ถนัดต้องลุยป่าผ่าดง ตั้งแคมป์ ที่นี่ก็นับเป็นทางเลือกที่รื่นรมย์ไปอีกแบบ ที่พักและอาหารที่จัดไว้ให้ในรูปแบบที่เรียบง่ายและพอดีใกล้ชิดกับธรรมชาติ อีกอย่างที่เราชื่นชอบนั่นก็คือที่นี่มีการจัดการในรูปแบบของชุมชนท่องเที่ยว ที่มีการกระจายงานและรายได้ให้กับผู้คนในหมู่บ้านในรูปแบบที่ยืดหยุ่น เราว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืนในระยะยาวเหมาะสมกับพื้นที่แบบนี้ดีถ้าใครสนใจลองเข้าไปเยี่ยมชมเฟสบุ๊คได้ที่ ชุมชมท่องเที่ยวจุฬาภรณ์พัฒนา 9 จ.ยะลา หรือ ติดต่อ หลิงปิง 0971175567 เพื่อสอบถามข้อมูลก่อนได้ (ในช่วงเวลาปกติจะมีเหล่าอากงอาม่ามาเล่าหรือพูดคุยด้วย แต่ในช่วงเวลาแห่งการระบาดของโรค ในเรื่องความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่สมควรอยู่ห่างจากคนต่างถิ่นก็เป็นเรื่องที่สมควร เราขอขอบคุณหลิงปิงมา ณ ที่นี้ด้วยที่อนุญาตให้เราเข้ามาท่องเที่ยวได้ในกรณีพิเศษ (เนื่องจากเราเดินทางมาคนเดียว)ทั้งๆที่ยังไม่เปิดบริการแบบปกติ)

อ่านติดตามตอนอื่นๆของทริปนี้ได้ตามลิ้งค์ด้านล่างครับ

ตอนที่1 นราธิวาส เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้

ตอนที่3 ปัตตานี 3 จังหวัดชายแดนใต้

Thanawat: REMINDER